ถ้าถามคนทั่วไปถึงประโยชน์ของแอโรบิกแล้วละก็ คำตอบแรกคงหนีไม่พ้นการลดน้ำหนักได้ดีเยี่ยม ซึ่งแอโรบิก 1 ครั้งสามารถเผาผลาญพลังงานได้ถึง 450-600 แคลอรีเลยทีเดียว แต่ความจริงแล้วยังมีข้อดีอีกเพียบที่หลายคนยังไม่รู้ ลองมาดูกันว่าแอโรบิกดีต่อสุขภาพของเราอย่างไรอีกบ้าง

1. ผลดีต่อสุขภาพสมอง
งานวิจัยล่าสุดของ Dr. Yaakov Stern มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ได้ตีพิมพ์ลงวารสารประสาทวิทยาในสหรัฐอเมริกา
พบว่าแอโรบิกสามารถช่วยปรับปรุงทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ หรือ Executive Functions ซึ่งรวมถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในวัยหนุ่มสาวได้ดีขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้นเขายังพบว่าแอโรบิกสามารถช่วยชะลอการสูญเสียเนื้อเยื่อที่จะเกิดขึ้นในวัย 30 ปีขึ้นไป และปรับปรุงประสิทธิภาพการเรียนรู้ของสมองอีกด้วย โดยหลังจากสแกนสมองของกลุ่มตัวอย่างแล้วพบว่าเนื้อเยื่อสมองแข็งแรงและลดการสูญเสียเนื้อเยื่อสมองลงได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

2. ปรับปรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
แอโรบิกมักเป็นตัวเลือกที่ American Heart Association และแพทย์ด้านหัวใจแนะนำให้กับคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เนื่องมาจากจะช่วยลดความดันโลหิตและช่วยให้หลอดเลือดแดงแข็งแรง โดยการเพิ่มระดับไขมันดีชนิด High-Density Lipoprotein หรือ HDL ที่มีหน้าที่ขจัดคอเลสเตอรอลหรือไขมันชนิดไม่ดีที่เกาะอยู่ตามหลอดเลือดออกไป
และลดระดับไขมันไม่ดีอย่าง Low-Density Lipoprotein หรือ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ไปสะสมในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็งตัวลงได้

3. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียค้นพบว่าผู้หญิงที่แอ็กทีฟและออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า โดยพวกเขาได้ทดลองให้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งออกกำลังกายบนลู่วิ่งเป็นเวลา 30 นาที ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมที่หนักหน่วงอย่างการเต้นแอโรบิกในระยะเวลาเท่ากัน และกลุ่มสุดท้ายไม่ออกกำลังกาย โดยในระหว่างทดลองจะมีการเก็บเลือดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดไปทดสอบอย่างสม่ำเสมอ
ผลปรากฏว่าผู้หญิงที่ออกกำลังกายด้วยแอโรบิกมีแอนติบอดีบางชนิดในเลือดที่เรียกว่า “อิมมูโนโกลบูลิน” เพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งตามไปด้วย ตรงกันข้ามกับกลุ่มผู้หญิงที่ไม่ออกกำลังกายเลย นอกจากจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ระดับคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนแห่งความเครียดยังเพิ่มสูงขึ้นกว่ากลุ่มอื่นๆ อีกด้วย

4. ลดความเสี่ยงในการล้ม
รู้หรือไม่ว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีคือจำนวนคนที่ประสบปัญหาลื่นล้มในแต่ละปี ซึ่งอาจทำให้กระดูกหัก เกิดอาการบาดเจ็บเรื้อรัง หรือพิการไปตลอดชีวิต แต่จากการวิจัยผู้หญิงวัย 72-87 ปีที่ออกกำลังกายด้วยแอโรบิกครั้งละ 1 ชั่วโมง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าความเสี่ยงในการล้มลดลง ทั้งยังเสริมสร้างความสมดุลและความคล่องตัวของร่างกายได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามไม่ควรรอให้ถึงวัยเกษียณถึงจะมาแอโรบิกกัน ทางที่ดีที่สุดควรเริ่มต้นตั้งแต่ยังหนุ่มสาว และแบ่งเวลาให้กับการออกกำลังกายหลายๆ ประเภทพร้อมๆ กัน เพื่อให้กล้ามเนื้อคุ้นเคยกับการทรงตัวในท่าทางต่างๆ เกิดความสมดุลในการเคลื่อนไหว และสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ